บทเรียนบนโต๊ะอาหาร “จากป่า นำพาผลผลิต สู่ชีวิตและอาชีพที่ยั่งยืน”

            คณะทำงานวิจัยรักษ์ป่าน่าน  มุ่งหน้าสู่โรงเรียนตาลชุมพิทยาคม เป้าหมายสุดท้ายของการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยครั้งนี้ ก้าวแรกของการเข้าสู่โรงเรียน พวกเราตื่นตาตื่นใจกับพื้นที่สองข้างทางที่เต็มไปด้วยป่าบนพื้นที่ 142  ไร่ เป็นป่าถึง 100 ไร่ โดยมีรองผู้อำนวยการเชิด  อินวาด  รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตาลชุมพิทยาคม ท่าน ผอ.ได้เล่าให้พวกเราฟังด้วยความภูมิใจว่า ภายใต้เอกลักษณ์คนตาลชุมรักษ์ป่า ที่นี่มีพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จึงจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่ป่า นักเรียนทุกคนจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6  จำนวน 357 คน ทุกระดับได้เรียนรู้เรื่องราวของป่า 1 คน 1 ต้น  1 ห้องเรียน จากสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 ถึงโครงการรักษ์ป่าน่าน สู่โครงการลานตาลชุมรักษ์ป่าของโรงเรียนเป็นต้นแบบของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ เรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4  อย่างคือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้  ไม้เศรษฐกิจ  และไม่ที่ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำจนได้รับโล่รางวัลสวนพฤกษศาสตร์ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี 2560 และได้วางแผนในอนาคตจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้อุทยานการศึกษาของนักเรียนและชุมชน

          ในขณะที่พวกเราตื่นเต้นกับการฟังเรื่องราวที่ท่าน ผอ. เล่าเรื่องให้ฟัง ภายในห้องประชุมที่รายล้อมไปด้วยนิทรรศการเรื่องราวการเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าน่านผ่านกิจกรรมการเรียนรู้จากหิ้งเรียนสู่ป่าอย่างหลากหลาย เป็นบทเรียนจากป่าสู่การเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลผลิตที่เกิดจากฝีมือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ของโรงเรียน

          บทเรียนบนโต๊ะอาหารจากป่า.. เป็นจุดขายที่โดดเด่นอย่างน่าทึ่งขณะที่ได้รับอาหารสมอง ก็ได้ทานอาหารว่างที่แสนอร่อย จากฝีมือของลูกนักเรียน ทั้งน้ำผลไม้ น้ำลูกหว้าจากต้นไม้ในโรงเรียน ขนมที่ทำจากลูกหว้า พวกเราที่มาเยือน ชมเป็นเสียงเดียงกันว่าฝีมือระดับเชลชวนชิมเลยที่เดียว

          คุณครูปราณี อินวาด ครูวิชาการของโรงเรียน ได้เล่าให้พวกเราฟังถึงการทำหลักสูตรสาระท้องถิ่น จากต้นไม้ใหญ่ประจำโรงเรียน เกิดเป็นหลักสูตรท้องถิ่น “หว้าพืชน่ารู้คู่ป่าน่าน”  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญ ประโยชน์ เห็นคุณค่าและอนุรักษ์ต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ในโรงเรียน โดยผ่านกระบวนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ นอกจากได้เรียนรู้การฝึกทักษะในการศึกษาค้นคว้า การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะการทำงานด้วยความมุ่งมั่น ประหยัด ซื่อสัตย์ ทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุข ตามแนวคิดวิถีชีวิตพอเพียงของพ่อหลวง

          จากห้องเรียนประชุมสู่ป่า(รอบโรงเรียน) หลังจากการได้ร่วมเรียนรู้เรื่องราวสู่การเรียนณู้ จากการบอกเล่าของลูกนักเรียนอย่างภาคภูมิใจในผลงานทุกชั้นที่นำเสนอแล้ว พวกเราได้เดินชมต้นไม้ ป่ารอบโรงเรียนซึ่งถือว่าเป็น Super Market  ของโรงเรียนและชุมชน ท่าน ผอ. และคุณครูได้บอกเล่าเรื่องราวของป่าอย่างพร่างพรู  ถึงการแปรรู้พืชในท้องถิ่น กิจกรรมซะป๊ะจากป่าน่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้รูปแบบ TC Model รูปแบบเยาวชนคนตาลชุมรักษ์ป่าน่าน  การสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่าน่าน ผ่านการเรียนรู้เรื่องป่า เพื่อป่าและความสัมพันธ์ของคนและป่า หลังจากพวกเราได้รับความรู้ความหมายของคำเมือง คำว่าซะป๊ะ หมายถึงอะไรแล้ว คุณครูได้เล่าการจัดการเรียนที่มีความหมายกับวิถีชีวิตว่า กิจกรรมซะป๊ะจากป่าคู่ป่าน่าน เน้นกิจกรรมที่จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติในป่า ภูมิปัญญาในชุมชน กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปกป้องผืนป่าเดิมและปลูกเพิ่มป่าใหม่ ตลอดจนการได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากป่าเพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

         จากการสำรวจพื้นที่ป่าโรงเรียนและพื้นที่ป่าชุมชนของนักเรียนได้ค้นพบพืชในผืนป่า 9 ชนิด ได้ร่วมออกนวัตกรรมการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากพืชทั้ง 9 ชนิด พืชชนิดที่ 1 ต้นหว้า  ซึ่งมีสองต้นใหญ่ในโรงเรียน ได้ศึกษาคุณสมบัติของผลสุกและใบลุกหว้า ได้ผลิตภัณฑ์คือซองปรุงรสลูกหว้า ชัทย์นีลูกหว้า  ไอศกรีมลูกหว้า ขนมเบเกอรี่ เช่น สโคนลูกหว้า ใบต้นหว้านำมาเป็นชา พืชชนิดที่ 2 หมากมื่น(กระบก) ได้ศึกษาและนำเมล็ดประบก (อัลมอนด์ไทย) มาทำเป็นคุกกี้ลูกหว้าและเป็นส่วนผสมในกราโนราอาหารเพื่อสุขภาพ พืชชนิดที่ 3 ต้นมะม่วงป่าซึ่งเป็นผลสุกมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ คือนำส่วนเนื้อมาทำไอศกรีมและน้ำมะม่วง เปลือกของผลนำนำมาตากแห้งทานเป็นอาหารว่างและส่วนผสมของขนมได้  พืชชนิดที่ 4 ต้นมะค่าโมง ได้นำส่วนเมล็ดมาสร้างนวัตกรรมนวดฝ่าเท้าโดยออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน พืชชนิดที่ 5 ต้นสัก นำสีใบสักมาย้อมผ้าได้สีม่วงที่สวยงาม พืชชนิดที่ 6 ต้นหูกวาง ได้นำสีของใบมาย้อมผ้าได้สีเขียว ที่กลุ่มมัดย้อมได้สร้างผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมพืชในสวนป่า  พืชชนิดที่ 7 ต้นหมี่ ใบมีสรรพคุณบำรุงเส้นผมนำมาสร้างนวัตกรรมเป็นแชมพูจากใบหมี่ พืชชนิดที่ 8 บอระเพ็ด ลำต้นช่วยชะลอการหงอกของเส้นผม พืชชนิดที่ 9 เห็ดซึ่งเยาวชนได้เรียนรู้การจำแนกเห็ดทานได้กับเห็ดพิษจากภูมิปัญญาท้องถิ่นพวกเราได้เก็บเห็ดทานได้จากผืนป่ารอบโรงเรียนอย่างสดชื่นมีความสุขจากการได้รับอาหารสมอง อาหารตา  อาหารใจ  จากประสบการณ์ตรงในการมาเยือนตาลชุมวิทยาคม นับว่าโรงเรียนได้สร้างบทเรียนจากป่าอย่างหลากหลาย มีความคิดสร้างสรรค์องค์ความรู้จากป่า ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เผื่อเป็นพื้นฐานสร้างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน โดยการสนับสนุนของเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  องค์การบริการส่วนตำบลตาลชุม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

          ความทรงจำที่แสนประทับใจก่อนจากมา “บทเรียนบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยง” ที่พวกเราทุกคนอิ่มอร่อย ได้ค้นพบและเรียนรู้ว่าอาหารที่แสนวิเศษ คือการนำพืชผลผลิตจากป่ามาทำเป็นอาหาร แกงเห็ดเผาะ ผสมหน่อไม้ น้ำพริกบ้านจิ้มด้วยข้าวเหนียวนิ่ม ข้าวกล้องจากผืนนาที่มาจากการลงมือปลูกของนักเรียน อาหารที่อร่อยบนใบตองสักที่ฝีมือประณีต มื้อนั้นเราทานอาหารที่ห้องรับรองของโรงเรียน เสมือนการทานอาหารในห้องที่ทึ่งคือการผสมผสานวิถีธรรมชาติเข้าไปอย่างกลมกลืน

          ขอขอบคุณ ผอ.โรงเรียน คุณครูนักเรียนและชุมชนที่สร้างต้นแบบคนตาลชุมรักษ์ป่าน่านให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และขอเชิญชวนท่านที่สนใจไปเยี่ยมชม  ตาลชุมวิทยาคม  ส่วนหนึ่งของสถานศึกษาในเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันดับที่ 3 ของเมืองไทย “น่านนะซี” ไม่ผิดหวังแน่นอน

Leave a Reply

Your email address will not be published.