เล่นตามรอยพระยุคลบาท เรียนรู้สู่การบวชป่า
ชื่อเรื่อง“เล่นตามรอยพระยุคลบาท เรียนรู้สู่การบวชป่า”
นวัตกรรมการเรียนการสอนการสอนแบบบูรณาการ
ศาสตร์ที่ใช้ Active Learning
ข้าพเจ้าออกเดินทางจากตัวอำเภอเมืองน่าน ไปทางทิศตะวันตก ผ่านเส้นทางบนสันเขาอันคดเคี้ยว ด้วยความรู้สึกอันระทึก ตื่นเต้นตลอดระยะทาง ประมาณ 45 กิโลเมตร รับรู้ได้ถึงอาการวิงเวียนศีรษะเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเดินทางถึงโรงเรียนบ้านวังยาว ซึ่งตั้งอยู่ในตัวอำเภอบ้านหลวง ขณะที่รถขับผ่านเข้าไปในโรงเรียน พบมีการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ที่ออกผลเต็มต้น มองเห็นถึงความร่มรื่นของสถานศึกษาอย่างน่าประหลาดใจยิ่งนัก ระหว่างถนนทางเข้าบริเวณในโรงเรียนมีต้นไม้ หลากหลายชนิดปลูกเรียงรายตามแนวของถนน
โรงเรียนบ้านวังยาว เป็นสถานศึกษาขนาดกลางที่มีอาคารเรียนยาวตามแนวของสนามโรงเรียนมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน และคณะครูจำนวน 16 คน โรงเรียนมีอาคารเรียน จำนวน 5 หลัง อาคารประกอบ จำนวน 3 หลัง แต่ที่โดดเด่นคือบริเวณหน้าโรงเรียนติดกับสนามฟุตบอลก่อนจะถึงรั้วโรงเรียนมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นสวยงามทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นเย็นสบายน่านั่งพักผ่อน มองไกลๆ เห็นคล้ายกับร้านกาแฟที่สร้างด้วยไม้แลดูสวยงามอย่างมาก โดยมีเด็กๆ เล่นอยู่ในบริเวณนั้นอย่างสนุกสนาน
จากนั้นข้าพเจ้าได้ไปพบนายศุภชัย ชุ่มใจ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังยาว จึงได้สอบถามว่าสิ่งก่อสร้างนี้คืออะไร ซึ่งท่านผู้อำนวยการได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า นี่คือสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” เกิดจาการน้อมนำแนวพระราชดำริในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส และพระธิดาของสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี มาเห็นแนวทางในการออกแบบองค์ประกอบและกิจกรรมที่จัดขึ้นในสนามเด็กแล่นให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองเด็ก โดยทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 เข้าร่วมโครงการสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” และได้เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานจากสนามเด็กเล่นต้นแบบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ที่ หลังจากการอบรมเสร็จสิ้น ผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำคณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนไปศึกษาดูงานสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” ที่โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ และโรงเรียนวัดมะเดื่อ จังหวัดนครสวรรค์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อกลับจากการศึกษาดูงานก็จัดให้มีการประชุมสะท้อนคิดการไปศึกษาดูงานโดยผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นฯ ร่วมกับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีข้อตกลงในการร่วมกันสร้างสนามเด็กเล่นฯ โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสนามเด็กเล่นฯ สนับสนุนไม้เก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งอุทิศแรงงานในการก่อสร้างสนามเด็กเล่นฯจนแล้วเสร็จ ดังกล่าว ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 50,000 บาท และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 จำนวน 20,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรภายนอก เช่นกลุ่มอินทัช สร้างโอกาสทางการศึกษา จำนวน 100,000 บาท องค์การยูนิเซฟประเทศไทย สนับสนุนสระว่ายน้ำแบบเคลื่อนที่จำนวน ๑ สระ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 10,000 บาท สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านวังยาวสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท หลังจากสร้างเสร็จคณะครูและนักเรียนได้ใช้สนามเด็กเล่น และสระว่ายน้ำจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับท่านผู้อำนวยการ สังเกตคณะครู อนุบาลกำลังพาเด็กๆ ทำกิจกรรมเล่นน้ำเล่นทรายเล่นดินจึงเข้าไปนั่งสอบถาม คุณครูเล่าว่าบ้านต้นไม้เหมาะสำหรับการเรียนรู้ของเด็กระดับปฐมวัย ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะมีที่เล่นน้ำเล่นดินเล่นทราย มีที่ปีนป่ายบ้านต้นไม้ที่ผูกด้วยเชือก มีความปลอดภัยเพราะไม่ใช่โลหะ เด็กสามารถปีนป่ายได้อย่างสนุกสนาน นอกจากครูอนุบาลแล้วมีครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พาเด็กๆ มานั่งเรียนใต้ต้นไม้ โดยสอนคณิตศาสตร์บนพื้นทรายเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บอกว่าไม่ใช่แต่วิชาคณิตศาสตร์ ที่ได้ฝึกคิดเลขบนพื้นทรายแต่พวกเรายังหัดเขียนหนังสือบนพื้นทรายโดยที่ไม่ต้องใช้สมุดให้เปลืองกระดาษ พวก เราเขียนภาษาไทยตามคำบอกของครูลงบนพื้นทรายด้วย พอถึงช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ข้าพเจ้าก็ยังวนเวียนอยู่ที่ใต้ต้นไม้เพราะอากาศสดชื่นเย็นสบาย เมื่อเด็กๆรับประทานอาหารกลางวันแล้วก็มีเด็กตัวโต สองสามคนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ที่เป็นห้องสมุดเล็กๆ สักครู่ใหญ่ก็เห็นเด็กตัวเล็ก 6-7 คน ตามขึ้นไป ข้าพเจ้าจึงตามขึ้นไปเช่นกันอยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน สิ่งที่เห็นคือป้ายไม้ขนาดพอเหมาะเขียนว่าห้องสมุดลิง เห็นพี่ตัวโตกำลังเล่านิทานด้วยหุ่นมือประกอบให้น้องๆฟัง ทุกคนนั่งฟังอย่างตั้งใจอย่างมีความสุข ข้าพเจ้าแอบถ่ายรูปพวกเขาอยู่เงียบๆ รู้สึกมีความสุขและประทับใจที่ได้เห็นภาพนั้นมองลงมา ใต้ต้นไม้มีเด็กๆมานั่งเล่นชิงช้า ไต่สะพานเชือก นั่งคุยกันมีเสียงหัวเราะ เสียงหยอกล้อกัน เมื่อหมดเวลาพักกลางวันเด็กๆ ก็พากันล้างมือแปรงฟันล้างหน้าเข้าชั้นเรียนช่วงบ่าย ข้าพเจ้าก็ยังวนเวียนอยู่ที่บ้านต้นไม้เพราะอยากเห็นว่าช่วงบ่ายนี้จะมีครูและนักเรียนเขาทำกิจกรรมอะไรอีกบ้างสักครู่ก็มีเด็กโตมาพร้อมกับคุณครูผู้สอนมานำเสนอรายงานที่ ไปศึกษา ค้นคว้าเรื่องการปลูกพืชในท้องถิ่น คือ การปลูกผักหวานและพืชสวนครัว มีเด็กกลุ่มหนึ่งถือเครื่องดนตรี สะล้อ ซึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน มาพร้อมกับครูผู้สอนมาเรียนรู้กันที่ลานบ้านต้นไม้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียนที่บ้านต้นไม้มีอย่างหลากหลายทำให้เกิดความคิดว่าต้นไม้นอกจากจะให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน ให้ร่มเงาแล้วยังให้ประโยชน์กับการจัดการศึกษาอย่างมากมายเช่นกัน
นอกจากนั้นทางผู้อำนวยการโรงเรียนได้เล่าให้ฟังถึงการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นฯ ใต้ร่มไม้ สามารถใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายในทุกๆ กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วโรงเรียนยังจัด กิจกรรมเสริมหลักสูตร คือ หลักสูตรรักษ์ป่าน่าน เรื่อง การบวชป่า ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 10 ชั่วโมง ประกอบไปด้วย ความรู้เกี่ยวกับการป่าไม้ในอำเภอบ้านหลวง พิธีกรรมการบวชป่า ผลกระทบของการบวชป่าที่มีต่อป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติในอำเภอบ้านหลวง โดยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนในอำเภอบ้านหลวง พระสงฆ์โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดฟ้าสวรรค์ ชุมชน และหน่วยงานทางราชการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม มาจัดพิธีกรรมการบวชป่า ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
จากสนามเด็กเล่น กลายเป็นห้องเรียนที่สร้างการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ได้อย่างดียิ่งการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นถึงความสำเร็จของการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และมีความปรารถนาให้โรงเรียนอื่นๆ นำวิธีการจัดการเรียนรู้นี้ไปใช้เป็นแบบอย่างหรือประยุกต์ใช้ในการสร้างองค์ความรู้ให้เด็กๆ ในโรงเรียนต่อไปเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืนสืบไป